นายธนพัชร์ ขุนเทพ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการผลิตสื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา สำนักงาน กศน. พร้อมด้วย นางวรภร ประสมศรี ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ในฐานะหัวหน้าสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ ETV นำทีมผลิตรายการ "เรียนนอกรั้ว" ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและถ่ายทำรายการ กิจกรรมการจัดการศึกษานอกระบบแก่กลุ่มเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา รวมถึงผู้ไม่รู้หนังสือ และผู้ลืมหนังสือ ณ บ้านพุเข็ม-แม่ประดล อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยมี น.ส.ไพจิตร คงแก้ว ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอแก่งกระจาน เป็นผู้ประสานงาน
น.ส.ไพจิตร คงแก้ว ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอแก่งกระจาน กล่าวว่า ตนได้รับการร้องขอจาก นายณัฐนันท์ นกแก้ว (ครูนิค) ข้าราชการครู รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพุเข็ม สพป.เพชรบุรี เขต 2 ให้ดำเนินการจัดการศึกษานอกระบบให้แก่เด็ก และเยาวชนในพื้นที่บ้านพุเข็ม-แม่ประดล ที่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนบ้านพุเข็ม ซึ่งมีบ้านพักอาศัยตั้งอยู่ลึกเข้าไปในพื้นที่เขื่อนแก่งกระจาน ไม่สามารถเรียนต่อให้จบการศึกษาภาคบังคับ หรือมัธยมศึกษาตอนต้นกับการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ เนื่องจากการคมนาคมที่ยากลำบาก เด็กๆ ต้องเดินเท้าเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรจากบ้านพักมาต่อเรือโดยสาร เพื่อเข้าไปเรียนต่อในโรงเรียนบนฝั่งในพื้นที่อำเภอแก่งกระจาน ใช้เวลานั่งเรือโดยสารจากในเขื่อนขึ้นฝั่งเกือบ 2 ชั่วโมง จากนั้นต้องต่อรถยนต์โดยสารเพื่อไปให้ถึงโรงเรียน รวมแล้วใช้เวลาเดินทางไป-กลับไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งการโดยสารรถและเรือเป็นเงินไม่น้อย ในขณะที่ผู้ปกครองเป็นเพียงชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ ต้นทุนจึงมีไม่เพียงพอให้ลูกหลานศึกษาต่อ ดำรงชีวิตด้วยความขาดแคลนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ จึงหลุดจากระบบการศึกษาโดยปริยายด้วยความจำเป็น เป็นเหตุให้ครูนิค ซึ่งเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณความเป็นครู ประกอบกับความห่วงใยศิษย์ เข้าขอคำปรึกษากับ กศน.อำเภอแก่งกระจานในที่สุด แต่ด้วยเด็กที่จบ ป.6 จากโรงเรียนบ้านพุเข็ม อายุยังอยู่ในช่วงของการศึกษาภาคบังคับ คือ อายุไม่ถึง 15 ปี ทางครูนิคจึงต้องทำหนังสือขออนุญาตจากสำนักงานเขตพื้นที่ ตามขั้นตอน เพื่อให้ กศน.อำเภอแก่งกระจาน สามารถจัดการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ได้ เพราะเกณฑ์การรับสมัครของนักศึกษา กศน. คือ ผู้เรียนต้องมีอายุ 15 ปี ขึ้นไป หรือหากอายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ ก็ต้องจบการศึกษาภาคบังคับมาแล้ว
ขณะนี้ กศน.อำเภอแก่งกระจาน ได้ส่งครูผู้ช่วย ลงพื้นที่เพื่อจัดการเรียนการสอนแก่เด็กและเยาวชนกลุ่มดังกล่าว รวม 31 ราย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านการเดินทางเช่นเดียวกัน รวมถึงมีภารกิจในการจัดการเรียนการสอนแก่กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบดูแลอีกหลายกลุ่ม นอกจากนี้ กศน.อำเภอแก่งกระจาน ยังได้มอบหมายให้ครูอาสาสมัคร กศน. ดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้แก่กลุ่มชาวบ้านที่ลืมหนังสือ และผู้ไม่รู้หนังสือ ที่ให้ความสนใจมาเรียนรู้ ที่สถานที่พบกลุ่มแห่งนี้อีกด้วย จากการดำเนินงาน ใน 2 ภาคเรียนที่ผ่านมา พบว่า เด็ก เยาวชน ตลอดจนคนในชุมชนบ้านพุเข็ม-แม่ประดล ให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูกหลานมาก เพราะเชื่อว่าการศึกษาจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กๆ และเยาวชนได้ดีที่สุด น.ส.ไพจิตร กล่าว
11 กรกฎาคม 2565
ผู้ชม 414 ครั้ง