กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้มีจิตศรัทธาทำบุญเนื่องในโอกาสถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พร้อมสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามสืบไป
นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2565 ไปถวายพระภิกษุสงฆ์ซึ่งจำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงประชาชน ผู้มีจิตศรัทธาในพื้นที่จังหวัดน่าน เข้าร่วมในพิธีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์ร่วมทำบุญ เป็นจำนวนเงิน 1,660,719 บาท (หนึ่งล้านหกแสนหกหมื่นเจ็ดร้อยสิบเก้าบาทถ้วน) เพื่อนำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และพระอารามหลวงพร้อมสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม
นายประทีป กล่าวต่อไปว่า วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เดิมชื่อ วัดหลวงกลางเวียง เจ้าผู้ครองนครน่าน พญาภูเข่ง เป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 1949 พระวิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นวิหารขนาดใหญ่ รูปทรง สร้างตามสถาปัตยกรรม ทางภาคเหนือ ภายในพระวิหารกว้างขวาง มีเสาปูนกลมขนาดใหญ่ ขนาด 2 คนโอบรอบ จำหลัก ลวดลายปูนปั้นนูนสูงไว้ เหนือจากระดับพื้นพระวิหาร 1.50 เมตร เป็นลวดลาย กนกระย้าย้อย เหมือนลวดลาย ที่เสาในวิหารวัดภูมินทร์ภายในวัดประดิษฐาน เจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งเป็นศิลปสมัยสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 รอบเจดีย์ มีรูปปั้นช้างปูนปั้น เพียงครึ่งตัวประดับอยู่โดยรอบ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปทองคำปางลีลา คือ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นทองคำ 65 % สูง 145 เซนติเมตร ยอดพระโมฬีทำเสริมเมื่อ พ.ศ. 2442 หนัก 69 บาท เจ้างั่วฬารผาสุม เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 14 แห่งราชวงค์ภูคา เป็นผู้สร้าง เมื่อวันพุธ เดือน 6 เหนือ พ.ศ. 1969 เป็นศิลปะสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ที่หอพระไตรปิฎก ใหญ่ที่สุดในประเทศ พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำวรวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีลิกธาตุไว้ภายใน นับเป็น ปูชนียสถาน สำคัญ เป็นเจดีย์ ที่ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะสุโขทัย จากเจดีย์ทรงลังกา คือเจดีย์วัดช้างล้อมนั่นเอง พระธาตุเจดีย์ สร้างด้วยอิฐถือปูน มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลื่ยมจัตุรัส ซ้อนกัน 3 ชั้น กว้างด้านละ 9 วา ฐานจากชั้นแรกสูงถึงชั้นสอง มีรูปช้างค้ำอยู่ในลักษณะ เหมือนฐานรองรับไว้ด้านละ 6 เชือก รวมทั้งหมด 24 เชือก ช้างแต่ละตัว โผล่ส่วนหัว ลอยออกมาครึ่งตัว ขาหน้าทั้งคู่ ยื่นพ้นออกมาจากเหลี่ยมฐาน เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ (ฐานบัว) ซ้อนกัน 3 ชัน และเป็นองค์ระฆังแบบลังกา ต่อจากองค์ระฆัง ทำเป็นฐานเขียง รองรับมาลัยลูกแก้ว ลดหลั่นกันไป เป็นส่วนยอด ปัจจุบันพระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ ได้รับการบูรณะซ่อมแซม และหุ้นด้วยแผ่นทองเหลืองทั้งองค์ มีความสวยงามมาก
ประเพณีทอดผ้าพระกฐินเป็นประเพณีอันดีงาม มีการสืบทอดกันมาช้านาน ก่อให้เกิดความสามัคคีในระหว่างพุทธบริษัท นับเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ที่ได้สงเคราะห์พระสงฆ์ตามพระวินัยซึ่งเป็นไปตามพระบรมพุทธานุญาตได้บูชาพุทธโอวาทของพระบรมศาสดาทำตนให้เป็นประโยชน์โดยสละทรัพย์เพื่อประโยชน์ต่อพุทธศาสนาเป็นการสั่งสมบุญกุศลไว้ในภายภาคหน้า รวมถึงการสร้างทางไปสวรรค์และนิพพานให้แก่ตนเอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านที่ร่วมบุญกฐินพระราชทานในครั้งนี้ เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาสืบไป
07 พฤศจิกายน 2565
ผู้ชม 245 ครั้ง