วันนี้ (22 ธันวาคม 2565) ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ครั้งที่ 3/2565 โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ห้องกำแหง พลางกูร อาคาร 56 ปี ชั้น 3 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx
ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์โควิดส่งผลให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ในเด็กปฐมวัย คณะกรรมการ ฯ จึงได้เสนอโมเดล “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” เป็นแนวทางฟื้นฟูพัฒนาการและเยียวยาเด็กปฐมวัยในภาวะเปราะบาง ซึ่งจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนี้คณะกรรมการ ฯ ยังได้พัฒนา Website “ปฐมวัยไทยแลนด์” และฐานข้อมูล Youth Link เชื่อมโยงข้อมูลเด็กปฐมวัยจากทุกหน่วยงาน เพื่อประกอบการจัดทำนโยบายและช่วยเหลือการเข้าถึงสิทธิด้านต่าง ๆ โดยได้กำชับให้ดำเนินการอย่างมีธรรมาภิบาลและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA)
ด้าน ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเสริมว่า ผลวิจัยจากหลายหน่วยงานชี้ว่า การปิดสถานศึกษาในช่วงโควิดส่งผลให้เด็กปฐมวัยมีทักษะด้านภาษาและคณิตศาสตร์ที่ถดถอยลง ที่ประชุมจึงได้เสนอการเรียนรู้แบบมอนเตสซอรี่ (Montessori) ให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการสอน เพื่อช่วยให้เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้ผ่านการสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่อาจประยุกต์จากกิจวัตรในบ้านสู่ห้องเรียน ทำให้เด็กได้ฝึกการสื่อสาร ฝึกการคำนวณ และมีความภาคภูมิใจจากการพึ่งพาตนเอง
สำหรับโมเดล “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” เป็นแนวทางฟื้นฟูพัฒนาการเด็กปฐมวัย ภายใต้หลักการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง และการสร้างการเรียนรู้ทุกระดับของสังคม ประกอบด้วย
[[ 3 เร่ง ]] ได้แก่
1. เร่งกำหนด “การฟื้นฟูเด็กปฐมวัย” เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และเป็นไปทั้งระบบจนเกิดผล
2. เร่งให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง
3. เร่งค้นหา เยียวยา และพัฒนาเด็กในภาวะเปราะบาง
[[ 3 ลด ]] ได้แก่
1. ลดการใช้สื่อจอใสในเด็กปฐมวัยอย่างจริงจัง
2. ลดความเครียดคืนความสุขแก่เด็ก
3. ลดการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก
[[ 3 เพิ่ม ]] ได้แก่
1. เพิ่มกิจกรรมฟื้นฟูพัฒนาการที่เสียไป โดยเฉพาะเพิ่มกิจกรรมทางกาย เพิ่มการอ่านนิทาน และเพิ่มการเล่น
2 .เพิ่มสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า
3. เพิ่มศักยภาพบุคลากรและระบบนิเวศใกล้ตัวเด็ก ผ่านการเสริมพลังครอบครัว สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และเครือข่ายชุมชน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมรับทราบแนวทางการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ฝาสีแดง ป้องกันโควิด-19สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี ตามที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความเห็นชอบแล้ว โดยจัดระบบการให้บริการฉีดวัคซีนทั้งในและนอกหน่วยบริการสาธารณสุข เช่น ในสถานสงเคราะห์เด็ก ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน หรือในสถานที่เกี่ยวข้องดูแลเด็กอื่น ๆ ทั้งนี้ จะดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ และมาตรฐานการให้บริการวัคซีน รวมถึงมีระบบรายงานผลการสังเกตอาการหลังการฉีดวัคซีนด้วย
22 ธันวาคม 2565
ผู้ชม 230 ครั้ง