เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 11 มกราคม 2566 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมจพ. แถลงข่าวกรณี ที่ถูกหมิ่นประมาทในสื่อสังคมออนไลน์ โดย รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ผ่านทางเฟซบุ๊ก ชื่อ weerachai phutdhawong เรื่องข้อเท็จจริงในการทำวิจัยเกี่ยวกับผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ทั้งในและต่างประเทศว่า ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน จบการศึกษาจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ในสาขาวิศวกรรมวัสดุศาสตร์ และเป็นนักวิจัยภายหลังจบปริญญาเอก (Post doctoral) ที่ Purdue University ประเทศสหรัฐอเมริกา รวม 5 มหาวิทยาลัย และได้ทำงานวิจัยทางด้านงานวัสดุ และ composite อย่างต่อเนื่องภายหลังจบการศึกษา มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นในทุกปีจากสถิติในฐานข้อมูล Scopus ที่ได้ถูกแสดงใน Facebook
ทั้งนี้ ผลงานวิจัยที่มีจำนวนงานวิจัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีเกิดจากการทำงานวิจัยร่วมกันเป็นทีมกับคณะนักวิจัยจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นนักวิจัยแบบเต็มรูปแบบ (full time researchers) ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) รวมถึงนักวิจัยต่างชาติ และยังมีโครงการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ได้เคยร่วมงานกันในต่างประเทศ ซึ่งเป็นการขยายเครือข่ายความร่วมมือในการทำวิจัย อีกทั้งคณะที่ข้าพเจ้าสังกัดอยู่ คือ บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ สิรินธร ไทย-เยอรมัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ซึ่งมีการจัดการเรียนการสอนเฉพาะระดับบัณฑิตศึกษาภาคภาษาอังกฤษเท่านั้น จึงเน้นการทำวิจัยกับภาคอุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่ารูปแบบการทำวิจัยเป็นทีมทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการสร้างเครือข่ายการทำวิจัยร่วมกับต่างประเทศดังกล่าวเป็นรูปแบบปกติที่มีอยู่ในหลากหลายประเทศในยุคดิจิทัลในปัจจุบัน
ในด้านประสบการณ์การทำงาน ข้าพเจ้าเคยทำงานในภาคเอกชนก่อนมาบรรจุเป็นอาจารย์ที่บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ สิรินธร ไทย-เยอรมัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ในตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558 นอกจากนี้ ยังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Chemnitz University สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี อีกตำแหน่งหนึ่ง โดยเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้จากมหาวิทยาลัยดังกล่าว
ในด้านการบริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา ของบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ สิรินธร ไทย-เยอรมัน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดี
" ดังนั้น ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าผลงานวิจัยของข้าพเจ้า เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยทางด้าน วัสดุศาสตร์ ซึ่งถือเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการทำงานวิจัยของข้าพเจ้า อีกทั้งตลอดระยะเวลาที่ศึกษาที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มากว่า 17 ปี และสหรัฐอเมริกา มากว่า 2 ปี ทำให้เกิดเครือข่ายการทำวิจัยกับนักวิจัยต่างชาติ กอปรกับการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องภายหลังจบการศึกษาได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจากต่างประเทศมากกว่า 20 คน และมีนักวิจัยภายหลังปริญญาเอก (Post doctoral) มากกว่า 10 คน รวมถึงการมีนักวิจัยต่างชาติที่ทำงานร่วมกันในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง และได้รับทุนวิจัยจากภายในและภายนอกประเทศอย่างต่อเนื่องทุกปีจากการมาปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จนถึงปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดี จึงทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง และข้าพเจ้ามิได้รับค่าตอบแทนหรือเงินสนับสนุนใด ๆ ในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการจากบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ สิรินธร ไทย-เยอรมัน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ แต่อย่างใด เนื่องจากข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นงานในหน้าที่อาจารย์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือทุกคน" อธิการบดี มจพ.กล่าวทิ้งท้าย
14 มกราคม 2566
ผู้ชม 403 ครั้ง