ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาขวัญ ทองรักษ์ รองคณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐบาล ได้มอบให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG หรือโครงการ U2T หนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งตำบล มทร.สุวรรณภูมิ รับผิดชอบ 131 ตำบลในภาคกลางครอบคลุม 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดอ่างทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดชัยนาท ด้วยการจ้างงานผู้ที่ได้รับกระทบจากสถานการณ์โควิด และพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรในชุมชน สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศโดยเน้นเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างรายได้ให้กับประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาขวัญ ทองรักษ์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบตำบลทับยา กล่าวว่า ที่ตำบลทับยา อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี มีเกษตรกรรวมกลุ่มกันปลูกข้าวไรซ์เบอรี่อินทรีย์ และข้าวหอมแม่ลาอินทรีย์ ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ แบรนด์ข้าวหอมแม่ลา ซึ่งในการผลิตข้าวไรซ์เบอรี่อินทรีย์จะมีปลายข้าวไรซ์เบอรี่เหลือใช้ส่วนใหญ่เกษตรกรจะนำไปเลี้ยงสัตว์หรือจำหน่ายในกิโลกรัมละ 10 บาท ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย เนื่องจากปลายข้าวไรซ์เบอรี่ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยต้านมะเร็ง มีธาตุเหล็กสูง ช่วยในการไหลเวียนของโลหิต มีใยอาหารสูงช่วยระบบขับถ่าย ลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ มีวิตามินบีสูง ช่วยบำรุงประสาท ประกอบกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาขวัญ ทองรักษ์ มีงานวิจัยอยู่แล้ว จึงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตน้ำเชื่อมจากข้าว หรือ ไรซ์ไซรัปให้กับเกษตรกร โดยมีทีมงานประกอบด้วย ดร.ปวิชญา โภชฌงค์และดร.สุณิสา สุวรรณพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารคณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มทร.สุวรรณภูมิ ร่วมลงพื้นที่ด้วย หลังสิ้นสุดโครงการ U2T เกษตรกรยังสนใจผลิตไซรัปข้าวจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง โดยเกษตรมีการติดต่อประสานงานกับอาจารย์เป็นระยะๆ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จัก และนำเข้าประกวดในงานกิจกรรมต่างๆ ของจังหวัดสิงห์บุรี จนได้รับรางวัลชนะเลิศระดับเขต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาขวัญ ทองรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไซรัปข้าวไรซ์เบอรี่ออร์แกนิค มีจุดเด่นด้านสุขภาพผลิตจากข้าวอินทรีย์ ปลอดภัยจากสารเคมี มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีความหวานน้อย และชนิดของน้ำตาลมีโครงสร้างที่ร่างกายดูดซึมได้ช้า มีความหอมกลิ่นข้าว รสหวานนุ่ม การนำปลายข้าวไรซ์เบอรี่มาแปรรูปเป็นไซรัปออร์แกนิค สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปลายข้าวได้ มากกว่า 25 เท่า นอกจากนี้ เกษตรกรยังนำไซรัปข้าวไปต่อยอดกับเครื่องดื่ม กาแฟ เบอเกอรี่ นำกากใยของปลายข้าวมาเป็นส่วนผสมในขนมอบ เป็นการบริหารการผลิตแบบ SERO WASTE เสริมจุดขายสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรจำนวนมาก ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะได้ต่อยอดพัฒนา ด้านมาตรฐาน ด้านการตลาดเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับผลิตภัณฑ์ ต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ไซรัปข้าว ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 081-922-0994
21 เมษายน 2566
ผู้ชม 2059 ครั้ง