“อมลวรรณ” เผย สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กำกับจรรยาบรรณทางวิชาชีพเชิงรุก ทำต่อเนื่องตั้งวอร์รูมติดตามข่าวผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เตือน ครู -บุคลากร ต้องประพฤติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ ทั้ง 5 หมวด
ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า ขณะนี้เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 แล้ว ตนขอเป็นกำลังใจให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถตามมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ในฐานะที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภา ได้ตั้งวอร์รูมเพื่อมอนิเตอร์ติดตามข่าวของครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกวัน โดยติดตามทั้งข่าวดี และข่าวไม่ดี ถ้าพบครูดี บุคลากรทางการศึกษาดี โดดเด่น ก็จะดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ หากพบผู้ใดกระทำผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ ก็จะดำเนินการพิจารณาโทษทางจรรยาบรรณอย่างเร่งด่วน เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการพิจารณาที่เป็นธรรมและโปร่งใส ซึ่งการตั้งวอร์รูมดังกล่าว ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2565 ถึงปัจจุบัน เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของเด็ก เยาวชน และประชาชน รวมถึงพิทักษ์ศักดิ์ศรีเกียรติยศของวิชาชีพ ให้สมกับความเป็นวิชาชีพชั้นสูง ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีครูและบุคลากรทางการศึกษา กระทำผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพในเรื่อง การล่วงละเมิดทางเพศนักเรียน การลงโทษนักเรียนรุนแรงไม่เหมาะสมขัดต่อระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์ เป็นต้น ซึ่งเรื่องต่างๆเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก
เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า คุรุสภา ในฐานะองค์กรวิชาชีพ ที่ดูแล กำกับการประพฤติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพทางการศึกษา ขอให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ทุกสังกัด ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจากคุรุสภา ได้ประพฤติปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ ซึ่งระบุไว้ในข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ.2556 มีทั้งหมด 5 หมวด ดังนี้ หมวด 1 จรรยาบรรณต่อตนเอง ต้องมีวินัยในตนเอง พัฒนาตนเองด้านวิชาชีพบุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ หมวด 2 จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ ต้องรัก ศรัทธา ซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อวิชาชีพ และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพ หมวด 3 จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ ต้องรัก เมตตา เอาใจใส่ ช่วยเหลือ ส่งเสริม ให้กำลังใจแก่ศิษย์ และผู้รับบริการ ตามบทบาทหน้าที่โดยเสมอหน้า , ต้องส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ทักษะ และนิสัยที่ถูกต้องดีงามแก่ศิษย์ และผู้รับบริการตามบทบาทหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ , ต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ , ต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์ และผู้รับบริการ , ต้องให้บริการด้วยความจริงใจและเสมอภาค โดยไม่เรียกรับ หรือยอมรับผลประโยชน์จากการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ หมวด 4 จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพฯพึงช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ โดยยึดมั่นในระบบคุณธรรม สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ และ หมวด 5 จรรยาบรรณต่อสังคม ผู้ประกอบวิชาชีพฯพึงประพฤติปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์ และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
“ปัจจุบันคุรุสภา มีครูที่ถือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพประมาณ 9 แสนกว่าคน ดังนั้น จึงต้องดำเนินการเกี่ยวกับจรรยาบรรณของวิชาชีพในเชิงรุก เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ เช่น การกำหนดให้หน่วยงานต้นสังกัดของครูที่ถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง ไล่ออก หรือ ปลดออก จะต้องส่งข้อมูลมาให้คุรุสภา เพื่อดำเนินการทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ ขณะเดียวกันคุรุสภาก็มีเครือข่ายจรรยาบรรณของวิชาชีพทางการศึกษา ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในกระบวนการทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ ได้นำความรู้และประสบการณ์จากการฝึกอบรมกับทางคุรุสภา ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในแต่ละพื้นที่ ทำให้การดำเนินการตรวจสอบ และการสอบสวนสืบสวนด้วยความเป็นกลาง และเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สังคมเกิดความมั่นใจในผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการสื่อสารสร้างความเข้าใจในเรื่องจรรยาบรรณของวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการรับรู้ ตระหนัก และร่วมมือในการปฏิบัติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพอย่างถูกต้อง เหมาะสม อย่างไรก็ตามดิฉันขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพ และประชาชนช่วยเป็นหู เป็นตา หากพบเห็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาประพฤติผิดจรรยาบรรณ โดยเฉพาะความผิดทางเพศ การทุจริต และพัวพันยาเสพติด ก็สามารถแจ้งกล่าวโทษมาได้ที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา หรือแจ้งผ่านทางเว็บไซต์คุรุสภา https://www.ksp.or.th/ksp2018/complaint เมนู “แจ้งเรื่องร้องเรียน” ” ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าว.
04 มิถุนายน 2566
ผู้ชม 268 ครั้ง