รมว.แรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น มอบกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเดินหน้าเร่งฝึกทักษะอาชีพคนจน หวังสร้างรายได้หมุนเวียนให้ชุมชน มีผู้ผ่านการฝึกแล้ว 22,281 คน มีรายได้เฉลี่ยกว่า 8,000 บาทต่อเดือน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะแรงงานอิสระยุค 4.0 โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นแรงงานอิสระที่มีสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อมุ่งเน้นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมในการเพิ่มรายได้ให้สูงขึ้นผ่านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน นอกจากมีการฝึกทักษะอาชีพแล้ว ผู้ผ่านการฝึกอบรมได้รับสิทธิ์รับมอบเครื่องมือและอุปกรณ์ต่อยอดในการประกอบอาชีพ เป็นการันตีว่าเป็นโครงการที่สามารถสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว โดยมีเป้าหมายดำเนินการฝึกอบรมจำนวน 31,500 คน ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 22,281 คน มีงานทำกว่าร้อยละ 88 และมีรายได้เฉลี่ย 8,384 บาทต่อเดือน ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ
นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ จะคัดเลือกหลักสูตรที่แรงงานสนใจและสามารถต่อยอดด้านการประกอบอาชีพในพื้นที่ได้ จากรายงานพบว่าสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 32 จันทบุรี (สพร.32 จันทรบุรี) จัดฝึกอบรมช่างแต่งผมบุรุษ การแปรรูปเนื้อสัตว์และการตลาดออนไลน์ การประกอบขนมอบ สพร. 22 นครศรีธรรมราช ฝึกอบรมผู้ประกอบอาหารฮาลาล ช่างบำรุงรักษาเครื่องจักรกลการเกษตร ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน ฝึกอบรมช่างติดตั้งและบำรุงรักษาระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ช่างเชื่อมประกอบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ในแต่ละหลักสูตรที่จัดฝึกอบรมนั้น ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมีผู้สมัครเข้าเป็นจำนวนมาก และบางหลักสูตรมีผู้สมัครเกินกว่าที่กำหนดไว้ จึงต้องมีการเพิ่มจำนวนรุ่นในการอบรม นอกจากนี้ ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม ยังได้รับเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อนำไปประกอบอาชีพด้วย อาทิ สพร. 2 สุพรรณบุรี ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลนิคมกระเสียว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี มอบวุฒิบัตรและเครื่องมือทำกิน เป็นเตาอบไฟฟ้า ให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม หลักสูตรการประกอบขนมอบ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานชัยภูมิ มอบเครื่องมือซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม ช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า "ต้องยอมรับว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ดีเป็นการติดอาวุธด้านทักษะอาชีพให้แก่ผู้มีสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ การส่งเสริมให้กลุ่มเหล่านี้มีอาชีพเท่ากับเป็นสร้างรายได้หมุนเวียนให้เกิดขึ้นภายในชุมชน มีอาชีพหลากหลายมากขึ้นเพื่อบริการสังคม ลดทอนปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน" นางสาวบุปผากล่าวทิ้งท้าย
นางมิรันตี แสงสุข (อายุ 60 ปี) อาชีพบริบาล ผู้เข้ารับการฝึกอบรมช่างแต่งผมบุรุษ กับสพร. 32 จันทบุรี เล่าว่าได้นำทักษะที่ได้รับจากฝึกอบรมเข้าร่วมเป็นจิตอาสากับหน่วยงานราชการในพื้นที่ให้บริการตัดผมแก่ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ส่งเสริมให้ตนเองได้ทำความดีและภูมิใจในตนเองอย่างมาก และนอกจากนี้ ยังนำความรู้จากการตัดผมไปทำเป็นอาชีพเสริมให้กับตนเอง โดยออกบริการตัดผมถึงที่พักอาศัย สามารถเพิ่มรายได้จากอาชีพหลักกว่าเดือนละ 3,000 บาท จึงขอขอบคุณกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นอย่างมากที่ดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นการเพิ่มโอกาสให้ชีวตของตนเองได้ทำความดีและรายได้เสริมในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครับ
19 มิถุนายน 2566
ผู้ชม 275 ครั้ง