กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ชูหน่วยงานเฉพาะทาง พัฒนาทักษะให้แก่แรงงานไทยในด้านเทคโนโลยี ทำงานร่วม AI ลดปัญหาเลิกจ้าง และสร้างงานได้กว่าร้อยละ 90
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากข่าวสารของ World Economic Forum (WEF) คาดว่าความฉลาดของเอไอจะทำให้การจ้างงานทั่วโลกลดลงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง ประกอบกับบริษัทต่างๆ มีการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ในการทำงานมากขึ้น หุ่นยนต์มีแนวโน้มที่จะถูกนำมาใช้แทนแรงงานคน จะทำให้ตลาดงานทั่วโลกสั่นคลอนในอีก 5 ปีข้างหน้า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยและต้องการให้แรงงานไทยมีทักษะด้านเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อรู้เท่าทันเทคโนโลยีในปัจจุบันที่กำลังเข้ามาสู่กระบวนการทำงานในอาชีพต่างๆ อาทิ การนำระบบต่างๆมาใช้ในการควบคุมเครื่องจักร หรือการทำงาน หากขาดทักษะ ความรู้ในด้านเทคโนโลยีจะส่งผลกระทบต่อการทำงาน การเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การเลิกจ้างได้นั้น กระทรวงแรงงาน จึงเร่งให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลให้แก่แรงงานไทย รวมไปถึงพนักงานของสถานประกอบกิจการ ให้มีความพร้อมในการทำงาน เมื่อมีการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาใช้มากขึ้น อีกทั้งเป็นการลดปัญหาการถูกเลิกจ้างได้อีกด้วย
นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แรงงานจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง หลายอาชีพ มีความต้องการใช้เทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลาทั้งทางตรงและทางอ้อม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการพัฒนาทักษะให้กับแรงงานไทยให้มีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงได้มีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะทาง หรือเรียกว่า ศูนย์ Exellence Training Center ประกอบด้วย 7 หน่วย ได้แก่ สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) ศูนย์ฝึกอบรมงานเชื่อมมาตรฐานสากล (TCIW) ตั้งอยู่ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและเมคคาทรอนิกส์ (AMA) ตั้งอยู่ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี สถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ (Wellness Industry) ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย และสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (DISDA) ตั้งอยู่ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หน่วยงานเหล่านี้เป็นหน่วยฝึกเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับระบบอัตโนมัติ และทักษะดิจิทัล เพื่อ Upskill และ Reskill แรงงานใหม่ แรงงานในสถานประกอบกิจการ ผ่านกระบวนการฝึกอบรมทั้งในรูปแบบของ Offline และ Online โดยระหว่างปี 2563-2566 ที่ผ่านมา ศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทางทั้ง 7 หน่วยงานดำเนินการพัฒนาทักษะแรงงานรองรับอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตจำนวน 27,463 คน มีงานทำร้อยละ 92.90 ซึ่งแรงงานเหล่านี้เมื่อได้รับการพัฒนาทักษะแล้ว จะทำให้มีความรู้ในการทำงานเพิ่มมากขึ้น ทั้งใด้านเทคโนโลยี ดิจิทัลและทักษะด้านการบริการ อีกทั้ง เป็นกำลังแรงงานที่จำเป็นและต้องการในตลาดแรงงาน เพราะการทำงานมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามา ดังนั้นแรงงานที่มีความรู้ด้านนี้จะเป็นเครื่องมือการันตีในการจ้างงาน ลดปัญหาการเลิกจ้างได้
"สำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล หรือภาคบริการ สามารถติดต่อกับหน่วยงานเฉพาะทางทั้ง 7 หน่วย หรือติดตามข่าวสารการฝึกอบรมผ่านเว็ปไซต์กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 "อธิบดีกล่าวทิ้งท้าย
19 มิถุนายน 2566
ผู้ชม 211 ครั้ง