เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 เวลาประมาณ 12.00 น. เกิดเหตุโรงงานผลิตพลุระเบิดทำให้เกิดประกายไฟลุกลามกลายเป็นเพลิงไหม้บ้านพักใกล้เคียง ในพื้นที่ตำบลสันปูเลย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 9 ราย โดยทันทีที่ทราบข่าว นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใย ลูกจ้าง ผู้ประกันตนที่ได้รับความเดือดร้อน จากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมเข้าให้การช่วยเหลือโดยด่วน
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้สั่งการให้นางอัจฉรา บัวทอง ประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมมอบ นายชนะกานต์ รังสิต นักวิชาการแรงงานชำนาญการ ลงพื้นที่พร้อมเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ พบเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ใช้เป็นที่เก็บ และจำหน่ายดอกไม้ไฟ เหตุเกิดขณะที่คนงานช่วยกันบรรจุดอกไม้ไฟ ได้เกิดประกายไฟขึ้นทำให้เกิดเพลิงไหม้และพลุที่เก็บไว้ระเบิดขึ้น เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 9 ราย ซึ่งจากการตรวจสอบพบเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 4 ราย ดังนี้
รายที่ 1 นางจุรี น้ำพี้ เข้ารับการรักษาในห้อง ICU โรงพยาบาลเทพปัญญา
รายที่ 2 นางบุบผา ปลั่งสูงเนิน เข้ารับการรักษาในห้องผู้ป่วยใน โรงพยาบาลลานนา
รายที่ 3 นางสาวศิวราภรณ์ ศิริรัตน์ บาดเจ็บเล็กน้อย แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว
รายที่ 4 นายพงศ์ศิริ คาบอินทร์ บาดเจ็บเล็กน้อย
โดยในวันนี้ (25 ก.ค.66) นางอัจฉรา บัวทอง ประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้นายวิรัตน์ ส่วยนุ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ รักษาการตำแหน่งนักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่พร้อมเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 5 จังหวัดลำปาง เข้าเยี่ยมให้กำลังใจนางบุบผา ปลั่งสูงเนิน ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ได้รับบาดเจ็บ ณ โรงพยาบาลลานนา พร้อมแนะนำสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 39 ในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลอื่นที่อยู่ใกล้เคียงได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะรับผิดชอบค่าบริการทางการแพทย์ภายใน 72 ชั่วโมง และส่งตัวเข้ารับการรักษาต่อ ณ สถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดสิทธิ สำหรับกรณีที่แพทย์ลงความเห็นให้หยุดพักรักษาตัว ผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้จากสำนักงานประกันสังคมในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง โดยคิดจากฐานค่าจ้าง 4,800 บาท อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคม พร้อมดูแลผู้ประกันตนให้ได้รับความคุ้มครองช่วยเหลือในยามเดือดร้อนทันที เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบประกันสังคมและเป็นหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตแก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ
27 กรกฎาคม 2566
ผู้ชม 250 ครั้ง