วันที่ 16 ตุลาคม 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง มีความห่วงใยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยและพี่น้องแรงงานไทยที่ไปทำงานในอิสราเอล ทั้งที่ได้รับผลกระทบและไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอิสราเอล และท่านนายกฯ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งขับเคลื่อน ดูแลและให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยให้เร็วที่สุด นั้น ในเรื่องนี้กระทรวงแรงงานได้เริ่มปฏิบัติการแล้ว และผมได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง
“ กระทรวงแรงงาน โดยท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลือพี่น้องแรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอลและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้เป็นภารกิจเร่งด่วนที่กระทรวงแรงงานต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและให้ความสำคัญเรื่องนี้สูงสุด ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เริ่มปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยแล้ว โดยมีแนวทางช่วยเหลือ ดังนี้
1. “เยียวยา” ให้กับแรงงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ และอยู่ในความคุ้มครอง โดยเมื่อกลับมาถึงประเทศไทย กระทรวงแรงงานจ่ายรายละ 15,000 บาท ทันที ตามสิทธิประโยชน์เงินสงเคราะห์ กรณีประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนครบสัญญาจ้างจากเหตุสงคราม
2. “หางานใหม่ ทั้งในและต่างประเทศ” โดยกระทรวงแรงงานจะเจรจาประสานให้กับแรงงานไทยที่ยังไม่หมดสัญญาและประสงค์จะกลับไปทำงานที่อิสราเอล เพื่อให้สามารถกลับไปทำงานได้เมื่อเหตุการณ์สงบ รวมทั้งสอบถามความสมัครใจของแรงงานหากไม่ประสงค์กลับไปทำงานที่อิสราเอล สามารถแจ้งความประสงค์มายังกระทรวงแรงงาน เพื่อเดินทางไปทำงานยังประเทศอื่นๆ ในส่วนผู้ที่มีความประสงค์จะทำงานในประเทศไทย ทางกระทรวงแรงงานพร้อมหางานให้ โดยสามารถแจ้งมาได้ที่กรมการจัดหางาน
3. “ฝึกทักษะฝีมือ รองรับอาชีพใหม่” กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยแรงงานไทย ที่กลับมาจากอิสราเอลและบุคคลในครอบครัว สามารถติดต่อสถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานที่ตั้งอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เช่น อุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา สกลนคร ศรีสะเกษ บึงกาฬ บุรีรัมย์ หนองบัวลำภู เชียงราย พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี จันทบุรี และนราธิวาส เพื่อเข้ารับการฝึกทักษะด้านอาชีพเสริม และสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้ต่อไป
4. “ดูแลสิทธิประโยชน์ และค่าจ้างค้างจ่าย” ในส่วนนี้ผมได้สั่งการให้ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำประเทศอิสราเอล ประสานนายจ้างเพื่อดำเนินการ จ่ายค่าจ้างส่วนที่ยังค้างจ่าย แล้ว อยู่ระหว่างการเจรจา
กระทรวงแรงงานยืนยันเจตนารมณ์ว่าเราให้ความสำคัญสูงสุดกับชีวิตของพี่น้องแรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอลทุกคน และจะให้การช่วยเหลือ ดูแล ทุกท่านที่เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ และการคุ้มครองตามกฎหมาย ” นายไพโรจน์ฯ กล่าว
16 ตุลาคม 2566
ผู้ชม 182 ครั้ง